โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนต้น

โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนต้น

โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนต้น เริ่มตั้งแต่ช่องจมูกจนถึงเหนือกล่องเสียง (Upper  respiratory infection) เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่ม acute URI ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่ จะเป็นการติดเชื้อไวรัส รองลงไปการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการติดเชื้อราพบได้น้อย โดยมักเกิดในกรณีร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอวัยวะที่ร่วมอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ โพรงจมูก เยื่อจมูก เยื่อบุโพรงจมูก ไซนัส ลำคอ ต่อมทอนซิล ท่อนซิล คอบวมและกล่องเสียง

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เป็นโรคพบบ่อยมาก แต่ไม่มีสถิติที่พบแน่นอน เพราะมักแยกศึกษาเป็นโรคๆ ไป เช่น ในผู้ใหญ่พบเป็นโรคหวัดได้บ่อยถึง 2-4 ครั้งต่อปี เป็นต้น

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบเกิดในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุ

สาเหตุการเกิดโรค

1.ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ Influenza , Rhinovirus, Parainfluenza, Adenovirus เป็นต้น

2. การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น

อาการและอาการแสดง

  1. มีไข้ อาจจะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ
  2. ไอ มักไอไม่มาก อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะก็ได้
  3. น้ำมูก อาจมีมากหรือน้อย
  4. เจ็บคอ คอหอยอักเสบ
  5. อาจมีเสียงแหบ

การรักษา

  • รักษาตามสาเหตุ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาประคับประคองตามอาการ คือการรักษาตามอาการผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาเช่นเดียวกับไม่มีสาเหตุจากการติดเชื้ออะไร เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด เป็นต้น

 

ข้อควรปฏิบัติถ้ามีอาการโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนต้น

  1. พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังมากเกินไป
  2. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  3. ควรพบแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์ (อย่าซื้อยากินเองเพราะ แพทย์จะเป็นผู้ดูแลและให้ยาตามความเหมาะสม)
  4. ควรหยุดพักงาน หรือ พักเรียนชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อโรค
  5. สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าให้ถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
  6. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำ ที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
  7. ควรกินอาหารอ่อน มีประโยชน์และย่อยง่าย เช่น น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
  8. ปิดจมูก ปาก เวลาไอ หรือจาม และบ้วนน้ำลายในภาชนะที่ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค
  9. เมื่อเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าหู และโพรงไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้

 การป้องกันไม่ให้เกิดโรค (Disease Prevention)

  1. หากมีคนใกล้ตัวป่วย ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่านอนปะปน ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกัน กับผู้ป่วย เวลาไอหรือจามให้ผู้ป่วยใช้ผ้าปิดปาก หรือจมูก ไม่หายใจรดผู้อื่น
  2. ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอโดย เฉพาะในเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
  3. อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป แต่ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอให้สุขภาพแข็งแรง
  4. ไม่ควรเข้าไปที่ที่คนแออัด เช่น ตามโรงมหรสพ โดยเฉพาะในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่
  5. ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่อากาศเย็น

ข้อควรระวัง (Precaution)

  1. ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ (ทั้งผู้ป่วยและที่คนที่อยู่ใกล้เคียง) และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก
  2. อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย